ข่าวออนไลน์ รวมข่าววันนี้ เป็นการรวบรวมข่าวจากเว็บไซต์ต่างๆ ข่าวเด่นประเด็นร้อน ข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศ คลิปเด็ด คลิปดัง นำเสนอข้อมูล ข่าวสาร สู่ผู้ชมทั่วโลกผ่านสื่อออนไลน์ ไร้พรมแดน ไร้ผู้บงการ ไร้การรีดไถเงิน เป็นอิสระด้านความถูกต้อง นำเสนอข่าวด้วยความโปร่งใส เพื่อสังคมไทยปัจจุบัน

สงสัยโบอิ้งบินมุ่งคาซัค นายกฯ มาเลย์แถลงรับ มีเค้า"ไฮแจ๊ก"




แฉอีกพิรุธถูกตัดสัญญาณสื่อสารก่อนโบอิ้งมาเลย์หายลึกลับ นายกฯ มาเลย์แถลงชัด ฝีมือผู้เชี่ยวชาญแต่ยังไม่ยอมใช้คำว่า "จี้เครื่องบิน" พร้อมให้ยุติการค้นหาซากเครื่องแล้ว เผยอาจออกมหาสมุทรอินเดีย หรือเลยไปไกลถึงคาซัคสถาน ขณะที่จีนจี้ให้เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญไปร่วมสืบสวนด้วย ญาติผู้โดยสารชาวจีนไม่พอใจที่ทางการมาเลย์ปิดข้อมูล ฮือล้อมเจ้าหน้าที่ทูต ทร.ไทยก็ยุติค้นหาแล้ว แต่เตรียมความพร้อมหาก มาเลย์ร้องให้ช่วยอีก



จากกรณีเหตุการณ์เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน เดินทางออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ต่อมาหลายชาติรวมทั้งไทยส่งเรือรบหลวงและอากาศยานไปช่วยเหลือ แต่ยังไม่พบซากเครื่อง ขณะที่ล่าสุดสหรัฐได้ชี้ปมใหม่ว่ามีความเป็นไปได้ที่เครื่องบินลำดังกล่าวอาจโดนจี้ ตามที่เคยเสนอข่าวไปแล้ว



ความคืบหน้าเครื่องบินโดยสารสูญหายอย่างเป็นปริศนา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เอเอฟพีรายงานว่า นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เปิดแถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อสรุปข้อมูลความคืบหน้าว่า การหายไปของเครื่องบินนั้นเป็นการกระทำที่วางแผนไตร่ตรองไว้ก่อน



นายนาจิบเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียพร้อมด้วยความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ยุติปฏิบัติการค้นหาบริเวณทะเลจีนใต้แล้ว หลังพบข้อมูลใหม่ว่าทิศทางการบินและระบบการสื่อสารของเครื่องบินลำดังกล่าวถูกปิดลงโดยเจตนา จึงเร่งประสานงานด้านข้อมูลด้านการค้นหากับประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเร่งตรวจสอบประวัติของลูกเรือ และผู้โดยสารอีกครั้ง แต่ยังไม่ขอใช้คำว่า "จี้เครื่องบิน" เพราะยังต้องรอให้ทุกฝ่ายสืบสวนหาสาเหตุและตัวเครื่องบินให้ชัดเจนก่อน



นายนาจิบกล่าวว่า ผลการตรวจสอบพบว่า เครื่องบินลำดังกล่าวส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมครั้งสุดท้ายราว 7 ชั่วโมงครึ่ง ภายหลังหายจากจอเรดาร์ของหอบังคับการบินพลเรือนเมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. ของมาเลเซียในวันที่สูญหาย การสื่อสารครั้งสุดท้ายระหว่างเครื่องบินลำดังกล่าว และดาวเทียมเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่จะคำนวณระยะทางที่เครื่องบินสามารถเดินทางไปถึงได้



วันเดียวกันที่ประเทศจีน นายฉิน กัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์เรียกร้องข้อมูลที่ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นความจริงจากรัฐบาลมาเลเซีย พร้อมระบุว่า รัฐบาลจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคสู่มาเลเซีย เพื่อร่วมสืบสวนสอบสวนแล้ว



รายงานข่าวจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างมากว่า เครื่องบินลำดังกล่าวซึ่งมีระบบการสื่อสารทั้งสองช่องทาง ถูกปิดก่อนที่จะถึงจุดสุดท้ายที่หอบังคับการบินจับสัญญาณได้บริเวณทะเลจีนใต้ ก่อนจะหันหัวกลับไปยังมาเลเซีย และมุ่งหน้าขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกับเผยบริเวณที่เครื่องบินอาจตกไว้ว่า ทางเหนืออาจกว้างตั้งแต่ทางตอนเหนือของประเทศไทย ไปถึงชายแดนประเทศคาซัคสถาน และทางใต้อาจกว้างตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซียถึงตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย 



ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือได้เผยว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่า ระบบการสื่อสารบนเครื่องมาเลเซีย แอร์ไลนส์ 2 ระบบ ถูกปิดแยกกันในระยะเวลาห่างกัน 14 นาที ครั้งแรกในเวลา 01.07 น. ต่อมาในเวลา 01.21 น. แสดงว่าเครื่องไม่ได้หายไปเพราะเครื่องยนต์ขัดข้องฉุกเฉิน ข้อความสุดท้ายที่นักบินส่งมาคือ "เอาล่ะ ราตรีสวัสดิ์" จากนั้นเครื่องจึงเปลี่ยนเส้นทางไปฝั่งตะวันตก ทางสหรัฐจึงค้นหาความเป็นไปได้ในมหาสมุทรอินเดีย



วันเดียวกันเว็บไซต์หนังสือพิมพ์สเตรตไทมส์ ประเทศสิงคโปร์ รายงานบรรยากาศภายในห้องแถลงข่าวที่ประเทศจีน ว่า ภายหลังจากนายนาจิบแถลงเสร็จ เกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อญาติของผู้สูญหายบนเครื่องบินลำดังกล่าวกว่า 300 คน ได้รับทราบถึงข้อมูลใหม่จากรัฐบาลมาเลเซีย และพยายามจะหยุดไม่ให้นายอิสคันดาร์ ซารูดิน เจ้าหน้าที่การทูตของมาเลเซียเดินทางออกจากการประชุม โดยหลายคนตะโกนเรียกร้องให้ทางการมาเลเซียเปิดเผยความจริง ว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะที่อีกหลายคนแสดงความหวังว่า หากเป็นการจี้เครื่องบินจริง จะส่งผลให้ยังมีโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่ญาติของตนจะยังรอดชีวิต 



ส่วนหนังสือพิมพ์ปักกิ่ง ไทมส์ รายงานเพิ่มเติมถึงกระแสข่าวจากโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กในประเทศจีนว่า พ่อของผู้หญิงคนหนึ่งได้โทรศัพท์เข้ามาระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว แต่ไม่ได้รับโทรศัพท์ จนกระทั่งเมื่อโทร.กลับไปและโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวปิดเครื่องไปแล้ว



ด้านกองทัพเรืออินเดียและเครื่องบินลาดตระเวนแจ้วว่ายังไม่พบร่องรอยใดๆ ของเครื่องบินมาเลเซีย หลังค้นหาในพื้นที่ 2.5 แสนตร.ก.ม. ในทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล



วันเดียวกัน พล.ร.ต.กาญจน์ ดีอุบล โฆษกกองทัพเรือ กล่าวภายหลังนายราจิบแถลงยุติการค้นหาเครื่องบินในทะเลจีนใต้ว่า พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. โดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือได้สั่งการให้หยุดค้นหาเครื่องบินลำดังกล่าวทั้งพื้นที่ทะเลอ่าวไทย พื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาคที่ 2 และพื้นที่ทะเลอันดามัน พื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาคที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะรอจนกว่ารัฐบาลมาเลเซียและกองทัพมาเลเซียร้องขอความช่วยเหลืออีกครั้ง ซึ่งกองทัพเรือยังคงเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ พร้อมทั้งเตรียม ร.ล.ปัตตานี ร.ล.ตาปี ร.ล.สงขลา ร.ล.สัตหีบ เพื่อรอการประสานจากมาเลเซียต่อไป



พล.ร.ต.กาญจน์กล่าวว่า สำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือและค้นหาโบอิ้ง 777-200 MH370 ในส่วนของกองทัพเรือไทย ได้เริ่มค้นหา มาตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันที่ 15 มีนาคม ทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่รับผิดชอบทัพเรือภาคที่ 2 โดยได้ส่งเรือหลวงปัตตานี และในส่วนฝั่งอ่าวไทย พื้นที่รับผิดชอบของพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 โดยการจัดเครื่องบินลาดตระเวนดอร์เนีย และเฮลิคอปเตอร์ ซูเปอร์ลิ่ง สำรวจในพื้นที่ค้นหาที่ได้รับการมอบหมายจากทางกองทัพมาเลเซีย



พล.ร.ต.กาญจน์กล่าวอีกว่า ส่วนการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ไม่ระบุชัดเจนว่าเครื่องบินลำดังกล่าวถูกจี้โดยสลัดอากาศหรือไม่นั้น คงต้องให้รอความชัดเจนจากมาเลเซีย แต่ลักษณะการปฏิบัติและการหายไปของเครื่องน่าจะแสดงได้ชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินลำดังกล่าว



ส่วนที่กระทรวงการต่างประเทศ รายงานข่าวระดับสูงระบุเกี่ยวกับกรณีล่าสุด ที่ทางการมาเลเซียแถลงถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องบินลำดังกล่าว จะใช้ 2 เส้นทางหลักบินออกนอกเส้นทางไปยังประเทศเป้าหมายใหม่ ได้แก่ 1.บินวกกลับไปทางอินโดนีเซียข้ามไปยังมหาสมุทรอินเดีย และ 2.บินไปยังคาซัคสถาน ผ่านทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยในเร็วๆ นี้ ทางการมาเลเซียจะเชิญสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่เกี่ยวข้องได้มาหารือเพื่อระดมความช่วยเหลือติดตามและค้นหาเครื่องบินลำดังกล่าว



ล่าสุดสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ รายงานเรื่องนี้มายังกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทางการไทยยินดีที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือติดตามเครื่องบินลำดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์จะเข้าร่วมการบรรยายครั้งนี้ด้วย เพื่อทราบรายละเอียดแนวทางการดำเนินการของทางมาเลเซีย แล้วรายงานกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปประสานกับทหารเรือและหน่วยงานอื่นๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือและเดินทางเข้าร่วมปฏิบัติการกับมาเลเซียต่อไป ทั้งนี้ ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหาของการบรรยายครั้งนี้ และทางมาเลเซียต้องการให้ไทยช่วยเหลืออย่างไร